เตรียมพร้อมรับมือให้ดี โรคตามฤดูกาลที่ต้องเฝ้าระวัง
เขียนเมื่อวันที่ 10/07/2021
วางแผนดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคตามฤดูกาล
เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนผันไปย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิด้วย และสิ่งที่ตามมานั่นคือ โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ในแต่ละฤดูกาลก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทุกคนควรระมัดระวังและดูแลสุขภาพของตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้ห่างจากโรคดังกล่าว ส่วนโรคตามฤดูกาล มีโรคอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
โรคที่มากับหน้าฝน
ไข้หวัดใหญ่ เป็นหนึ่งในโรคร้ายที่มักมาพร้อมกับฝน
สำหรับโรคที่มากับหน้าฝน มีทั้งโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร เชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรก หรือโรคติดต่อที่เกิดจากยุง อาทิ
โรคไข้หวัดใหญ่
เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) มีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A, สายพันธุ์ B และสายพันธุ์ C แต่มีเพียงสายพันธุ์ A และ B ที่มีการระบาดโดยทั่วไป โดยอาการของโรคมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการรุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตได้
อาการ : ผู้ป่วยมีอาการคล้ายกับไข้หวัดทั่วไปแต่รุนแรงกว่า มีไข้สูงเกิน 39-40 องศาเซลเซียสติดต่อกันหลายวัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใส ไอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน และอาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
วิธีดูเเลเบื้องต้น : พักผ่อนเยอะ ๆ ดื่มน้ำบ่อย ๆ ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว และกินยาลดไข้ ถ้าใน 2-7 วัน อาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้รีบไปพบแพทย์
โรคไข้เลือดออก
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย เนื่องจากมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยโรคไข้เลือดออกนับเป็นโรคที่มีอาการรุนแรงมาก หากรักษาไม่ทันอาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการ : ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-7 วัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดงเล็ก ๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกตามไรฟัน รายที่อาการรุนแรงมากหลังจากมีไข้มาแล้วหลายวัน ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือภาวะช็อก
วิธีดูเเลเบื้องต้น : หากสงสัยว่าป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาทันที
โรคเยื่อบุตาอักเสบ
โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง เกิดได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือการติดต่อทางน้ำตาผ่านการสัมผัสโดยตรงจากมือ ไปสัมผัสตาของอีกคนหรือถูกน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา ความรุนแรงของโรคมีไม่มาก และสามารถหายเองได้
อาการ : หลังจากที่มือหรือวัตถุที่มีเชื้อโรคมาสัมผัสตาโดยตรง ประมาณ 1 - 2 วัน ผู้ป่วยเริ่มมีอาการบวมแดงตรงตาขาว คัน น้ำตาไหล ขี้ตาเยอะ ส่วนใหญ่เป็นที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงติดต่อมาอีกข้างหนึ่ง ทั้งนี้อาการป่วยสามารถรักษาหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน
วิธีดูเเลเบื้องต้น : ให้ใช้ยาหยอดตาหรือยาป้ายตาที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ
โรคที่มากับหน้าร้อน
ฮีทสโตรก เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป
ในช่วงอากาศอันร้อนระอุเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอย่างมาก โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และนี่คือภัยสุขภาพบางส่วนที่แอบแฝงมากับหน้าร้อน
โรคอาหารเป็นพิษ
เป็นโรคทางเดินอาหารที่เกิดจากการทานอาหารหรือดื่มสิ่งที่ปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารกระป๋อง อาหารทะเล นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ หรืออาหารที่ปรุงทิ้งไว้เป็นเวลานาน ส่งผลให้ลำไส้อักเสบติดเชื้อ และระบบย่อยอาหารมีความผิดปกติ
อาการ : แตกต่างกันไปตามปริมาณเชื้อที่ได้รับ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ฉะนั้นหากมีอาการท้องเสียรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดสภาวะช็อกและเสียชีวิตได้เลย
วิธีดูเเลเบื้องต้น : หากมีอาการไม่รุนแรงมากนัก ให้ดื่มเกลือแร่สำหรับอาการท้องร่วงหรือท้องเสียเพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป แต่ถ้ามีอาการรุนแรงถึงขั้นลุกขึ้นนั่งแล้วหน้ามืด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
โรคลมแดด
โรคลมแดดหรือโรคฮีทสโตรก เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส หากได้รับการรักษาที่ล่าช้าเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ที่สำคัญโรคฮีทสโตรกแม้ไม่โดนแสงแดดก็สามารถเกิดอาการนี้ ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรืออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด
อาการ : ตัวร้อนขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงถึง 40 องศาเซลเซียส รู้สึกกระหายน้ำ มีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด และอาจรุนแรงถึงขั้นชักกระตุก เกร็ง ก่อนหมดสติไป
วิธีดูเเลเบื้องต้น : ให้นอนราบกับพื้น ยกเท้าทั้ง 2 ข้างขึ้น และถอดเสื้อผ้าออก จากนั้นค่อยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งมาประคบตามตัวผู้ป่วย หรือนำพัดลมมาเป่า เพื่อระบายความร้อน จากนั้นให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล