รู้หรือไม่ ผู้ชายเป็นมะเร็งเต้านมได้ อันตรายไม่แพ้ผู้หญิง
เขียนเมื่อวันที่ 25/08/2021
มะเร็งเต้านม โรคที่ผู้ชายก็เป็นได้
แม้มะเร็งเต้านมเป็นโรคร้ายอันดับต้น ๆ ของผู้หญิงทั่วโลก แต่รู้ไหมว่าผู้ชายก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน ถึงปัจจุบันยังไม่อาจระบุเหตุของโรคมะเร็งเต้านมในผู้ชายได้ เนื่องจากผลการศึกษาเกี่ยวกับมะเร็งชนิดนี้ในผู้ชายมีน้อย และเพื่อให้คุณชายพร้อมรับมือโรคมะเร็งเต้านม วันนี้ Hugs Insurance ได้รวบข้อมูลมะเร็งเต้านมในผู้ชาย พร้อมวิธีการป้องกันเบื้องต้นมาฝาก
โรคมะเร็งเต้านมในผู้ชาย เกิดจากอะไร
เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์เต้านมของผู้ชายเจริญเติบโตและแบ่งตัวผิดปกติ จนกลายเป็นก้อนเนื้อมะเร็งที่อกของผู้ชาย โดยอาจเกิดมะเร็งเต้านมได้ทั้งข้างเดียวหรือเกิด 2 ข้างไม่ต่างจากมะเร็งเต้านมในผู้หญิง แต่เนื่องจากมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้น้อยมาก ส่งผลให้ผู้ชายไม่ให้ความสำคัญในการตรวจเต้านมของตนเอง เมื่อรู้ตัวว่าป่วยเป็นมะเร็งอาการก็อยู่ในระดับรุนแรง ทำให้ยากต่อการรักษาและมีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างสูง
ใครมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมในผู้ชาย
- ปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม เคยมีคนในครอบครัวทั้งหญิงและชายป่วยเป็นมะเร็งเต้านม
- อายุที่มากขึ้น เนื่องจากมักพบโรคนี้ในผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- มีระดับเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนในเพศหญิงสูงกว่าปกติ
- โรคตับแข็ง เนื่องจากตับเสื่อมสภาพส่งผลให้ไม่สามารถทำลายฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ตามปกติ
- เป็นโรคอ้วน
- มีเต้านมใหญ่กว่ามาตรฐานชายทั่วไป
- มีประวัติการรักษาด้วยวิธีฉายรังสีบริเวณหน้าอกหรือเคยโดนรังสี
- ลูกอัณฑะมีขนาดเล็กและเป็นหมันจากการมีตัวอสุจิน้อยเกินไป หรือไม่มีตัวอสุจิเลย
สัญญาณเตือนโรคมะเร็งเต้านม ที่ไม่ควรมองข้าม
(1) คลำพบก้อนเนื้อแข็งในเต้านม เมื่อบีบแล้วไม่มีอาการเจ็บปวด
(2) เต้านมรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือสีของหัวนมเปลี่ยนแปลงไป
(3) มีของเหลวไหลออกจากเต้านม
(4) เป็นผื่นหรือแผลเรื้อรังบริเวณหัวนม
6 วิธีลดความเสี่ยง ป้องกันโรคมะเร็งเต้านมในผู้ชาย
ตรวจเช็คเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ ช่วยให้ห่างไกลโรคมะเร็ง
(1) หมั่นตรวจเช็คเต้านมของตนเองเป็นประจำ เนื่องจากการตรวจพบโรคได้เร็วจะเพิ่มโอกาสในการรักษาหายมากขึ้น โดยวิธีตรวจเช็คมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง มีดังนี้
- ยืนหน้ากระจกแล้วดูที่เต้านมทั้ง 2 ข้าง สังเกตว่าขนาด รูปร่าง สีผิว ตำแหน่งของเต้านม หัวนมเป็นอย่างไร แล้วเทียบการเปลี่ยนแปลงกับเดือนก่อน
- ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะทั้ง 2 ข้าง แล้วดูที่เต้านมอีกครั้ง ก่อนหมุนตัวช้า ๆ เพื่อดูบริเวณด้านข้างของเต้านม
- มือเท้าเอวและโน้มตัวมาด้านหน้าเล็กน้อย เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
- ใช้นิ้วมือบีบที่บริเวณหัวนมเบา ๆ แล้วดูว่ามีเลือด หนอง หรือน้ำไหลออกจากหัวนมหรือไม่
- คลำเต้านมตั้งแต่บริเวณกระดูกไหปลาร้าลงมา โดยใช้มือซ้ายคลำเต้านมข้างขวา จากนั้นให้ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางทั้ง 3 นิ้ว ค่อย ๆ กดลงบนผิวหนังเบา ๆ แล้วค่อยเพิ่มแรงกด กระทั่งสัมผัสกระดูกซี่โครง เมื่อคลำจนทั่วเต้านมไปจนถึงบริเวณรักแร้ใต้วงแขน ให้เปลี่ยนมาคลำอีกข้างแล้วทำแบบเดียวกันทุกอย่าง
- เมื่อเสร็จการคลำในท่ายืนแล้ว ให้เปลี่ยนเป็นคลำในท่านอนโดยใช้หมอนหนุนไหล่ข้างที่จะคลำ แล้วคลำซ้ำเหมือนท่ายืน
(2) ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมในผู้ชายควรเข้ารับการตรวจเอกซเรย์เต้านมปีละ 1 ครั้ง
(3) หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
(4) งดหรือจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในปริมาณน้อย
(5) พยายามควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน
(6) หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
แม้มะเร็งเต้านมไม่ใช่ 1 ในโรคมะเร็งที่พบมากของผู้ชายแต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้น แถมอันตรายมากเสียด้วย ฉะนั้นคุณผู้ชายหมั่นตรวจคัดกรองเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน จะได้ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคร้าย เพราะหากตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก็มีโอกาสรักษาหายขาด นอกจากนี้การวางแผนความคุ้มครองสุขภาพเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน โดยฮักส์มีแผนความคุ้มครองประกันภัยมะเร็งและประกันภัยสุขภาพที่หลากหลาย เช่น ประกันภัยโรคมะเร็ง Cancer Pro by BDMS ของวิริยะประกันภัย เบี้ยเริ่มต้น 6,240 บาท/ปี* ให้คุณตรวจคัดกรองฟรีทุกปี* พร้อมให้ค่ารักษาสูงสุดถึง 9 ล้านบาท มีการเคลมค่ารักษาและสามารถต่ออายุกรมธรรม์ได้ในปีถัดไป ถ้าสนใจสามารถติดต่อฮักส์ได้ที่ 0 2975 5855 หรือผ่านช่องทาง Facebook และ Line
อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต, โรงพยาบาลพญาไท, งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี