3 โรคร้ายที่คนไทยเป็นเยอะ เสี่ยงเสียชีวิตสูง!
เขียนเมื่อวันที่ 19/07/2021
เช็คลิสต์ โรคร้ายที่คนไทยป่วยเยอะที่สุดทั้งหญิงและชาย
ในปัจจุบันอัตราผู้ป่วยด้วยโรคร้ายในไทยยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมความเสี่ยงต่าง ๆ รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนในยุคนี้ทั้งอาหารการกิน มลพิษ สภาพอากาศ ความเครียด ความเร่งรีบ และสภาพแวดล้อม ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีความเสี่ยงในการป่วยโรคร้าย และเป็นโรคที่มีอัตราผู้เสียชีวิตมากที่สุดในแต่ละปีอีกด้วย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุเท่าไหร่ ก็มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายต่าง ๆ ได้มากขึ้น
สำหรับในประเทศไทย มีโรคร้ายที่ถือเป็นโรคที่พบบ่อยในปัจจุบันที่มีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่มากที่สุดต่อปีอยู่ 3 โรคด้วยกัน ซึ่งแต่ละโรคนั้นล้วนแล้วแต่เป็นโรคที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาที่ยาวนาน เป็นโรคที่ทั้งมีโอกาสรักษาหาย และ ไม่สามารถรักษาหายได้ จะมีโรคอะไรบ้างไปดูกัน
1.โรคมะเร็ง
การป่วยด้วยโรคมะเร็ง
โรคร้ายแรงอันดับหนึ่งที่ถือเป็นภัยเงียบที่มาเยือนแบบไม่คาดคิดและเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทย ทั้งหญิงและชายมากที่สุด อีกทั้งยังมีอัตราผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี โดยโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงคือ มะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ชายคือ มะเร็งตับ ซึ่งสถิติการป่วยเป็นโรคมะเร็งของไทยมีเพิ่มสูงขึ้นถึง 70,000 คนต่อปี และยังคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มที่พบผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
โรคมะเร็งที่พบได้บ่อยทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย
สาเหตุ โรคมะเร็ง
สำหรับสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งนั้นมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเป็นส่วนใหญ่ ดังนี้
- พฤติกรรมการกินอาหารประเภทปิ้ง ย่าง อาหารประเภทนี้จะมีสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของเนื้อสัตว์อย่าง PAH ที่เมื่อทานเข้าไปสะสมในร่างกายมาก ๆ ก็เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งได้
- การทานอาหารที่มีไขมันสูง
- พฤติกรรมการสูบบุหรี่
- การดื่มสุรา
- ความเครียด
โรคมะเร็ง อาการ สัญญาณเบื้องต้นที่ควรรู้
- มีการพบก้อนเนื้อในร่างกาย (มีความเสี่ยงเป็นได้ทั้งมะเร็ง เนื้องอก หรือ ซีต)
- เกิดอาการไอเรื้อรัง ร่วมกับมีเสียงแหบ
- มีอาการเลือดออกที่ผิดปกติจากทวารต่าง ๆ ในร่างกาย (ตา, หู, จมูก, ปาก, ช่องปัสสาวะ, ช่องอุจจาระ)
- มีอาการกลืนอาหารลำบาก หรืออาการเสียดแน่นท้อง (ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน)
- เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่ายของร่างกาย เช่น ปัสสาวะออกมาเป็นเลือด หรือ อุจจาระเป็นสีดำ เป็นต้น
- เมื่อเกิดบาดแผลจะหายช้า หรือ รักษาแล้วแผลไม่หาย
- สังเกตบริเวณไฝในร่างกายว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
ซึ่งอาการป่วยโรคมะเร็งในแต่ละระยะจะมีความแตกต่างกัน โดยระยะเริ่มต้นจะยังไม่มีการแสดงอาการใด ๆ เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายมีเซลล์มะเร็งอยู่เป็นจำนวนน้อย จากนั้นร่างกายจะเริ่มแสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่งจากสัญญาณเตือนเบื้องต้น และควรเริ่มไปพบแพทย์ ระยะต่อไปร่างกายจะเริ่มมีอาการป่วยของโรคให้เห็นมากยิ่งขึ้น เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ร่างกายทรุดโทรม น้ำหนักลด รู้สึกไม่สดชื่น ระยะลุกลามจะเริ่มมีการแสดงอาการเจ็บปวดของบริเวณร่างกายส่วนที่เกิดโรค
2.โรคเบาหวาน
การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด
โรคที่มีจำนวนผู้ป่วยและอัตราผู้เสียชีวิตที่สูงอีกหนึ่งโรค โรคเบาหวานคือโรคที่เซลล์ของร่างกายมี การเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานที่ผิดปกติ โดยเกี่ยวข้องกับอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างถูกสร้างมาจากตับอ่อนเพื่อใช้สำหรับควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อตับอ่อนทำงานผิดปกติก็ส่งผลให้ระดับอินซูลินในเลือดหรือน้ำตาลในเลือดสูง จนเกิดเป็นโรคเบาหวาน
สาเหตุ การเกิดโรคเบาหวาน
- กรรมพันธุ์
- ยิ่งมีอายุเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้มากขึ้นเช่นกัน
- มีน้ำหนักมากเกินเกณฑ์มาตรฐาน ความอ้วน ขาดความเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือไม่ค่อยออกกำลังกาย
- ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับตับอ่อน
- ยาบางชนิด ที่มีการตอบสนองของอินซูลินได้ไม่ดี
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่ส่งผลต่อตับอ่อน
- ความเครียดเรื้อรัง
- การตั้งครรภ์
- พฤติกรรมการกิน เช่น การทานแป้ง และ น้ำตาลในปริมาณที่มาก ๆ เป็นประจำ จนทำให้ร่างกายเกิดการสะสมของน้ำตาลในเลือด
อาการ โรคเบาหวาน
โรคเบาหวานมีอาการที่ชัดเจน คือ มีอาการหิวน้ำบ่อย, ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมาก รวมถึงมีน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่มีสาเหตุ, เป็นแผลแล้วหายยาก
นอกจากนี้แล้วโรคเบาหวานยังเป็นโรคที่ทำให้ร่างกายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้อีกมากมาย เช่น โรคไต, โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคในช่องปาก, ปัญหาดวงตา การมองเห็น เป็นต้น
3.โรคหลอดเลือดหัวใจ
อาการเจ็บหน้าอกจากโรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจ คือ โรคที่เกิดจากการสะสมของคอเลสเตอรอลและสารต่าง ๆ เป็นลักษณะของการเกาะของคราบไขมันบริเวณภายในผนังหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้ปิดกั้นการไหลเวียนของกระแสเลือด เกิดเป็นหลอดเลือดอุดตันและหลอดเลือดตีบ และไม่สามารถไหลเวียนขึ้นไปเลี้ยงยังบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ จนก่อให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดที่ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด และอาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายจนเสียชีวิตได้
สาเหตุ โรคหลอดเลือดหัวใจ
- การทานอาหารที่มีไขมัน หรือ คอเลสเตอรอลสูง
- การสูบบุหรี่ สารนิโคติน และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จากควัน และการสูบบุหรี่
- พันธุกรรม เพศ อายุ
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง
- ผู้ป่วยเบาหวาน
- ผู้ที่มีน้ำหนักมาก หรือ อ้วน
- การดื่มแอลกอฮอล์
- ภาวะเครียด ซึมเศร้า หรือผู้ที่มักมีสภาพจิดใจในเชิงลบ
อาการ โรคหลอดเลือดหัวใจ
- เจ็บหน้าอก หรือ แน่นหน้าอก
- มีอาการปวดเค้นบริเวณหัวใจ
- รู้สึกหายใจลำบาก
- หน้ามืด
- คลื่นไส้อาเจียน
- มีเหงื่อออกมาก
- ชีพจรเต้นเร็ว บางคนชีพจรเต้นช้า-เร็วสลับกันผิดปกติ