ขั้นตอนรับเงินชดเชยประกันรถยนต์ ค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อม
เขียนเมื่อวันที่ 14/09/2021
เงินชดเชยค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อม ประกันรถยนต์ขอแบบไหน
รถยนต์ยานพาหนะที่สำคัญในการเดินทางในปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมีสูงขึ้นเช่นกัน การขับขี่รถยนต์ถึงแม้จะระมัดระวังหลีกเลี่ยงอันตรายแค่ไหนก็สามารถเกิดอุบัติเหตุได้
สำหรับคนมีรถประกันภัยรถยนต์ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม นอกจากประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ที่เป็นการตกลงกันระหว่างผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันภัย โดยผู้ซื้อสามารถเลือกความคุ้มครองและเงินทุนประกันได้ตามที่ต้องการ เป็นความคุ้มครองที่ไม่ได้ถูกบังคับใช้โดยกฏหมายแต่คนส่วนใหญ่นิยมเลือกทำ เพื่อความคุ้มครองที่ครอบคลุมให้แก่รถยนต์ บุคคลภายนอก และผู้ขับขี่มากยิ่งขึ้น
ในกรณีเกิดอุบัติเหตุถูกคู่กรณีชนและเราเป็นฝ่ายถูก สามารถเรียกค่าขาดประโยชน์ระหว่างรอซ่อม หรือค่าสินไหมที่คุณต้องได้ (ในกรณีที่เป็นฝ่ายถูก) จากคู่กรณี (ที่เป็นฝ่ายผิด) ในระหว่างที่รถยนต์กำลังรอซ่อม โดยทางบริษัทประกันจะให้คำนวณทั้งในส่วนของระยะเวลาในการรอซ่อม ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในยามที่ไม่มีรถยนต์สำหรับขับขี่ เช่น รถยนต์เป็นสิ่งที่ต้องใช้สำหรับการขับขี่ไปทำงานในทุก ๆ วัน เมื่อไม่มีรถยนต์และต้องเดินทางไปทำงานด้วยบริการรถสาธารณะเช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ รถแท็กซี่ ในแต่ละวันตามจำนวนวันที่รถทำการซ่อมในอู่ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถเรียกได้จากบริษัทประกันภัยของคู่กรณี
อัตรากำหนดการเรียกค่าขาดประโยชน์ระหว่างรอซ่อม
เงินชดเชยประกันภัยรถยนต์
ทางด้านสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้มีการหารือเพื่อกำหนดความคุ้มครองค่าขาดประโยชน์ ที่ควรระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ให้ชัดเจน ค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมรถ คปภ. โดยเบื้องต้นกำหนดอัตราค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักคือ
- รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท
- รถยนต์รับจ้างสาธารณะขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท
- รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท
ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ เอกสารที่ต้องใช้
เอกสารจำเป็นที่ต้องใช้ประกอบการเรียกค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมรถ จะมีเอกสารทั้งบริษัทประกันเป็นผู้ออกให้และเอกสารที่ต้องเตรียมไปเอง ดังนี้
- ใบเคลมเพื่อเป็นการรับรองความเสียหายของทรัพย์สิน
- ใบเสนอรายการความเสียหายรถยนต์
- สำเนาความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
- สำเนาทะเบียนรถยนต์
- สำเนาใบขับขี่รถยนต์
- ใบรับรถ
- รูปถ่ายตอนซ่อมรถ
- หนังสือเรียกร้องสินไหมค่าขาดประโยชน์ระหว่างรถซ่อม
- สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารของผู้เอาประกัน
*ควรสอบถามเอกสารที่ต้องใช้จากบริษัทประกันภัยของคู่กรณี